กรมการขนส่งทางบก เดินหน้าต่อยอดโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” จับมือกับกระทรวงสาธารณสุขติดตั้ง GPS ในรถพยาบาล เพื่อควบคุมพฤติกรรมการขับขี่และยกระดับความปลอดภัย ปัจจุบันติดตั้ง GPS ในรถพยาบาลนำร่องแล้ว 165 คัน และคาดว่าจะสามารถติดตั้งระบบ GPS รถพยาบาลได้ครบทุกคัน ภายในปี 2560
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการบริหารจัดการพฤติกรรมการขับขี่และยกระดับมาตรฐานการขับรถพยาบาลให้ปลอดภัย ติดตั้ง GPS ในรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามตำแหน่งพิกัดของรถพยาบาล การเคลื่อนที่ รวมถึงแสดงสถานะของคนขับรถ ชั่วโมงการทำงาน โรงพยาบาลเจ้าของรถ และการใช้ความเร็วของรถแบบ Real time โดยรถพยาบาลทุกคันจำกัดการใช้ความเร็วต้องไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากมีการใช้ความเร็วเกินที่กำหนด ระบบจะแสดงผลข้อมูลรถใช้ความเร็วเกินกำหนด พร้อมข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ขับประมาทหวาดเสียว เบรกกะทันหัน ตัดหน้ากระชั้นชิด เป็นต้น มายังศูนย์ฯ GPS ทันที ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสามารถติดตามกำกับดูแลรถพยาบาลในสังกัดได้แบบ real time ปัจจุบันติดตั้ง GPS ในรถพยาบาลแล้ว 165 คัน ใน 19 จังหวัด และคาดว่าจะสามารถติดตั้งระบบ GPS รถพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ครบทุกคัน ซึ่งมีประมาณ 5,000 คัน ภายในปี 2560 พร้อมเตรียมขยายผลไปยังรถกู้ชีพกู้ภัยของมูลนิธิต่างๆ และรถพยาบาลท้องถิ่นซึ่งมีจำนวนอีกไม่น้อยกว่า 10,000 คัน โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการขับรถพยาบาล ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ญาติผู้ป่วย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่บนรถพยาบาล
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS เพื่อยกระดับมาตรฐานระบบขนส่งสาธารณะของประเทศให้มีความปลอดภัย ซึ่งกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันและรถบรรทุกตั้งแต่สิบล้อขึ้นไปต้องติดตั้ง GPS ตามระยะเวลาที่กำหนด เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 และกำหนดติดตั้ง GPS ครบถ้วนทุกคันภายในปี 2562 สำหรับในขณะนี้ มีรถโดยสารสาธารณะทุกคันและรถบรรทุกตั้งแต่สิบล้อขึ้นไปติดตั้ง GPS และเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ฯ GPS แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 72,884 คัน โดยศูนย์ฯ GPS จะติดตามทุกพฤติกรรมการขับรถของรถทุกคันและพนักงานขับรถทุกคนอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรวบรวมข้อมูล ประสานการทำงานกับผู้ประกอบการขนส่งเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทันทีที่เกิดการกระทำผิดเงื่อนไขการเดินรถและข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ศูนย์ฯ GPS จะบันทึกประวัติเพื่อติดตามพฤติกรรมการขับขี่ พร้อมประสานผู้ประกอบการขนส่งให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถทุกคนให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงสามารถนำมาพิจารณาแนวทางการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของประเทศอย่างยั่งยืน